คอนกรีตปั๊ม (CONCRETE PUMP)
คอนกรีตปั๊ม คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการลำเลียงคอนกรีตชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันปั๊มคอนกรีตได้เข้ามามีบทบาทในการลำเลียงคอนกรีตเพิ่มมากขึ้น โดยเข้ามาทดแทนรถเข็น ,ลิฟท์ , ทาวเวอร์เครน , สายพานลำเลียงและวิธีการลำเลียงอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากปั๊มคอนกรีตสามารถตอบสนองความต้องการในการเทคอนกรีตในที่สูงหรือในบริเวณที่มีอุปสรรคหรือยากต่อการเทคอนกรีตโดยวิธีอื่น รวมทั้งยังให้ความสะดวกรวดเร็วในการเทคอนกรีตเมื่อเทียบกับวิธีอื่นด้วย
วิวัฒนาการของปั๊มคอนกรีต
แนวความคิดเกี่ยวกับลำเลียงคอนกรีตผ่านท่อโดยอาศัยลูกสูบไปยังสถานที่ซึ่งต้องการเทคอนกรีต เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 และแนวความคิดนี้ได้ถูกใช้จริงในปี พ.ศ.2476 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการใช้ปั๊มคอนกรีตในการลำเลียงคอนกรีต สำหรับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ มิสซิสซิปปี้ ที่เมืองมินิโซต้า หลังจากปี พ.ศ.2476 ถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการใช้ปั๊มคอนกรีตในการก่อสร้างบ้าง แต่ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะท่อที่ใช้มีขนาดใหญ่ คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 นิ้ว ทำให้มีน้ำหนักมากยากต่อการเคลื่อนย้ายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี พ.ศ.2488) ในยุโรป ปั๊มคอนกรีตได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการบูรณะประเทศ แต่ในสหรัฐอเมริกาปั๊มคอนกรีตกลับไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากวิธีการและเทคนิคต่างๆ ในการปั๊มคอนกรีตยังไม่แน่นอนและยังคงใช้วิธีลองผิดลองถูกอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2500 ได้มีการนำปั๊มคอนกรีตแบบ 2 ลูกสูบ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาใช้งาน หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาปั๊มคอนกรีตมาเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2508 ได้มีปั๊มคอนกรีตแบบติดตั้งบนรถมาใช้งานเป็นเครื่องแรก ภายหลังปี พ.ศ.2513 ปั๊มคอนกรีตได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะท่อขนส่งคอนกรีตได้ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง คือมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ทำให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายและยังมีการพัฒนาปั๊มคอนกรีตแบบติดตั้งบนรถให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ทำงานได้สะดวก ไม่ต้องติดตั้งท่อบ่อยๆ อีกทั้งการเคลื่อนย้ายก็ทำได้ง่ายอีกด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ.2525 ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศเยอรมันใช้ปั๊มคอนกรีตสำหรับลำเลียงคอนกรีต ประมาณ 50 % ของการใช้คอนกรีตในงานก่อสร้างทั้งหมด
ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ปั๊มคอนกรีต
1. เพิ่มความรวดเร็วในการเทคอนกรีต ผู้รับเหมาสามารถเลือกขนาดและจำนวนปั๊มให้เหมาะสมกับลักษณะงานได้ ในขณะที่ถ้าใช้วิธีการอื่น เช่น การใช้ทาวเวอร์เครนหรือลิฟท์ อัตราการเทคอนกรีตจะถูกจำกัดด้วยทาวเวอร์เครนหรือลิฟท์
2. เพิ่มความสะดวกในการเทคอนกรีต สามารถวางตัวปั๊มไว้บริเวณที่รถคอนกรีตผสมเสร็จเข้าได้สะดวกและต่อท่อไปยังบริเวณที่จะเทคอนกรีต ทำให้สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น
3. ลดค่าใช้จ่ายในการตกแต่งผิวคอนกรีต เนื่องจากคอนกรีตที่สามารถใช้ได้กับปั๊มคอนกรีตนั้น จะต้องมีส่วนผสมของทรายละเอียดอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งปกติต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อทำให้ผิวของคอนกรีตที่เทโดยปั๊มคอนกรีตนั้นค่อนข้างเรียบและไม่สิ้นเปลืองในการฉาบผิวหลังจากการถอดแบบแล้ว
4. ลดค่าแรงงานในการเทคอนกรีต เนื่องจากการเทคอนกรีตโดยใช้ปั๊มคอนกรีต จะใช้คนน้อยกว่าการเทคอนกรีตด้วยวิธีอื่นๆ และยังสามารถเทได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่า เป็นผลให้ค่าแรงงานในการเทน้อยลง
5. ลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่รวดเร็วของปั๊มคอนกรีต ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดลดลง ผู้รับเหมาก่อสร้างจะได้รับค่าจ้างเร็วขึ้น ลดดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะต้องเสียไป สามารถรับงานได้มากขึ้นในระยะเวลาเดียวกัน
6. คุณภาพของคอนกรีตในโครงสร้างดี ซึ่งเป็นผลมาจากคอนกรีตที่เทในแบบมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอและรวดเร็ว
ควรใช้ปั๊มคอนกรีตกับสถานการณ์ดังต่อไปนี้
- เมื่อขาดแคลนแรงงาน
- เวลาก่อสร้างมีจำกัด
- การเทคอนกรีตจำนวนมาก
- สถานที่เทคอนกรีต ยากต่อการลำเลียงคอนกรีตด้วยวิธีอื่น
- มีการจัดส่งคอนกรีตอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ
- คนงานควรมีความรู้ ประสบการณ์และมีการวางแผนงานที่ดี